เคล็ดลับกับวิธีรักษาโรคกระเพาะด้วยตัวเองง่ายๆ..คุณเองก็ทำได้ที่บ้าน
เชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะเคยเป็นโรคกระเพาะ หรืออาจจะกำลังเป็น หรือกำลังรักษาอยู่ ด้วยความรีบเร่งของสังคมเมือง ส่วนหนึ่งของการรับประทานไม่ตรงเวลาก็จะส่งผลทำให้เกิดโรคกระเพาะขึ้นมาได้ ยิ่งเวลาที่โรคกระเพาะกำเริบอาการปวดท้อง
บอกได้เลยว่าใครไม่เคยเป็นมาก่อนแล้วมาเป็น จะรู้สึกว่ามันทรมานมากปวดแสบท้องขนาดลงไปนอนกองกับพื้นน้ำตาไหลเลยก็มี แล้วสาเหตุของโรคกระเพาะอาหาร ยังมีนอกเหนือจากนี้อีกหรือเปล่านะ หากต้องการดูแลรักษา และป้องกันตัวเองก่อน ที่จะเป็นโหนักกว่านี้…จะมีวิธีแก้ไขอย่างไรมาดูกันดีกว่า
สาเหตุของโรคกระเพาะอาหาร คืออะไร?
มาดูกันก่อนว่า “โรคแผลในกระเพาะอาหาร” หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่า โรคกระเพาะอาหาร หรือ โรคกระเพาะนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งโรคนี้ยังหมายถึงโรคแผลที่ลำไส้เล็ก, โรคกระเพาะอาหารอักเสบ รวมทั้งโรคลำไส้เล็กอักเสบอีกด้วย ส่วนสาเหตุของโรคกระเพาะอาหารมีกลไกการเกิดโรคที่ซับซ้อนมากซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ละสาเหตุส่งผลทำให้เกิดภาวะที่มีกรดและน้ำย่อยในกระเพาะอาหารมากเกินไป จนไปทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร
บางสาเหตุอาจเกิดจากการใช้ยาต้านการอักเสบบางชนิดอย่าง ยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน นาโพรเซน อินโดเมทาซิน ฯลฯ และหากใช้ยาติดต่อกันนาน อาจทำให้เกิดแผลตรงกระเพาะอาหารได้ นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือ เอชไพโลไร ซึ่งติดต่อได้จากการกินอาหาร เชื้อนี้จะสร้างสารพิษทำลายเซลล์เยื่อบุผิวของกระเพาะอาหาร จึงทำให้เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ และทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร อาจเรื้อรังถึงขั้นมะเร็งกระเพาะอาหารได้
โรคกระเพาะชนิดไม่มีแผล หลายสาเหตุคือ การรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา ความเครียด การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา กาแฟ การรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด และภาวะกรดในกระเพาะไหลย้อนขึ้นมาหลอดอาหาร
อาการโรคกระเพาะอาหาร
อาการของโรคกระเพาะอาหารเวลาท้องว่าง หรือเวลาหิว คือ ปวดหรือจุกแน่นท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ บางคนจะยิ่งปวดหลัง จากทานอาหารที่รสจัด ซึ่งอาการปวดของโรคกระเพาะส่วนใหญ่มักปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ มานานเป็นปี ปวดแน่นท้อง หลังจากหลับไปแล้ว หรือมีอาการกำเริบเวลากินยาแอสไพริน ดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ ยาแก้ปวดข้อ ปวดท้องช่วงที่กินอาหารผิดเวลา หรือมีความเครียด
บางรายมีอาการแน่นท้อง ท้องอืด อาจมีคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย แต่สุขภาพโดยทั่วไปจะไม่ทรุดโทรม ไม่มีภาวะซีดและน้ำหนักตัวไม่ลด อาจพบภาวะแทรกซ้อนอย่างเลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเป็นเลือด หน้ามืด วิงเวียนศีรษะและถ่ายเหลวสีดำเหนียวคล้ายน้ำมันดิน
มาดูวิธีป้องกันและรักษาโรคกระเพาะด้วยตัวเองกันดีกว่า
1.กินยาลดกรด หรือยารักษาแผลกระเพาะอาหาร ติดต่อกันอย่างประมาณ 4-8 สัปดาห์
2.หลีกเลี่ยงอาหารหรือสิ่งที่จะทำให้อาการกำเริบ ไม่ว่าจะเป็น ของเผ็ด ของมัน เลิกสูบบุหรี่ แนะนำให้ผ่อนคลายความเครียด และหันมาออกกำลังกาย
3.ควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย อาหารอ่อน ๆ เมื่อมีอาการดีขึ้นแล้วจึงค่อย ๆ กลับมารับประทานอาหารตามปกติ
4.รักษาโรคกระเพาะด้วยขมิ้นชัน โดยนำขมิ้นชันหัวแก่ๆ สดๆ ล้างให้สะอาดหั่นบางๆ นำไปตากแดดจัดๆ สักสามแดด แล้วก็นำมาตำให้ละเอียดเป็นผง นำไปปั้นกับน้ำผึ้งเข้มข้นเป็นยาลูกกลอนขนาดปลายนิ้วก้อย กินครั้งละ 2-3 เม็ดหลังอาหาร และงดยาแผนปัจจุบันทุกชนิด…หรือถ้าไม่สะดวกสามารถหาซื้อขมิ้นขันแบบบรรจุแคปซูลมาทานได้
5.ทำยาจากกล้วยน้ำว้า วิธีทำคือนำกล้วยน้ำว้าดิบที่แก่จัดทั้งลูก ล้างน้ำให้สะอาดแล้วหั่นขวางเป็นชิ้นบางๆ นำไปเกลี่ยใส่ถาด ตากแดดจัดๆ สักสามแดด นำมาใส่ครกตำให้ละเอียดเก็บใส่ขวดมีฝาปิด ใช้ครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำค่อนแก้ว กินหลังอาหารทุกมื้อ อาการจะดีขึ้น หายปวดท้อง และแน่นท้อง
6.ใช้กระเจี๊ยบมอญ ที่มีสารเพคตินและสารเมือกช่วยเคลือบกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้ วิธีทำคือเลือกผลกระเจี๊ยบมอญอย่างอ่อนนำมาล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปตากให้แห้งสนิท และนำมาบดเป็นผงเสร็จแล้วจึงเก็บใส่ขวดโหลไว้สำหรับชงดื่ม
ที่สำคัญของการเป็นโรคกระเพาะ หากหายปวดอย่าหยุดยาทันทีควรใช้ต่อไปอีกสัก 1-1 ½ เดือน ไม่เช่นนั้นอาการอาจกำเริบขึ้นอีก และต้องงดอาหารรสจัดทุกชนิด รับประทานอาหารให้เป็นเวลาจำนวนน้อย ๆ แต่ให้บ่อยมื้อ ไม่ควรรับประ ทานจนอิ่มมาก หากหิวก่อนเวลาให้ดื่มน้ำ เพียงแค่นี้คุณก็จะหายจากโรคกระเพาะอาหารแล้ว
Leave a Reply
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น